Agile in a Nutshell
🤔 โดยทำไมต้องทำ Agile? ขอสรุปแบบเห็นภาพแจ่มๆเลยได้ไหม?
Last updated
🤔 โดยทำไมต้องทำ Agile? ขอสรุปแบบเห็นภาพแจ่มๆเลยได้ไหม?
Last updated
ในรอบนี้เราจะมาดูการทำ Agile แบบภาพรวมดูบ้าง ว่าถ้าเราเอา agile มาใช้แล้วมันจะช่วยจัดการโปรเจคเราได้ยังไง
แนะนำให้อ่าน บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความ 👦 Agile Methodology หากเพื่อนๆสนใจอยากศึกษาการทำ Agile แบบเต็มรูปแบบก็สามารถกดลิงค์สีฟ้าๆเพื่อเข้าไปดูได้เลยนะ
อ้างอิง บทความนี้ถอดความรู้มาจากวีดีโอตัวนี้ Agile Product Ownership in a Nutshell ถ้าสนใจอยากดูตัวเต็มก็กดดูเอาได้เลยนะ
ผมขอถอดความจากวีดีโอมาเล่าให้ฟังละกันจะได้เรียนรู้คำศัพท์ไปในตัวด้วย ซึ่งผมขอออกตัวไว้ก่อนว่า นิทานที่จะเล่านี้เพื่อให้เข้าใจภาพรวมเฉยๆนะ ซึ่งในการทำงานจริงของแต่ละอย่างมันจะผุดมาได้ยังไง เดี๋ยวมีอธิบายในบทความถัดไป ดังนั้นอย่าเสียเวลาไปฟังนิทานกันเลยละกัน
กาลครั้งหนึ่งในดินแดนอันไกลแสนไกล มีแมวน้ำกลุ่มหนึ่งเกิดมีไอเดียอยากได้แอพเจ๋งๆซักตัวนึงขึ้นมา โดยเราจะขอเรียกพวกมันว่า Stakeholders ละกัน
และแน่นอนแมวน้ำกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เขียนโปรแกรมไม่เป็นหรอก แต่เขาสนับสนุนเงินไปสร้างแอพเมพๆได้แน่นอน ดังนั้นเลยต้องมีแมวน้ำอีกตัวที่ชื่อว่า Product Owner หรือย่อสั้นว่า PO ที่ต้องคอยทำความเข้าใจว่าเหล่า stakeholders นั้นอยากจะได้อะไรกันแน่นั่นเอง
ดังนั้น PO เลยเป็นคนที่จะมีภาพในหัวว่าโปรแกรมควรจะต้องทำอะไรได้บ้างนั่นเอง โดยที่สิ่งที่โปรแกรมจะต้องทำอะไรได้บ้าง เราจะเรียกมันว่า User Story ที่เป็นไอเดียผุดมาจาก Stakeholders และ PO นั่นเอง
ซึ่งการที่จะทำให้แอพเทพๆนั้นเกิดขึ้นมาได้จริงๆ ก็จะตกเป็นงานของแมวน้ำอย่างเราๆ เหล่า Developer team นั่นเอง ที่จะคอยเอา user story มาแปลงเป็นโค้ดสืบไป
โดยปกติเหล่า Developer team ก็จะมีนัดหมายส่งงานที่ทำเสร็จเป็นรอบๆไป โดยถ้าเราเอา user story มานับเฉลี่ย เราก็จะรู้ว่า ในหนึ่งรอบทีมจะสามารถทำได้กี่ user story เลยทำให้เราสามารถคาดการณ์ได้ว่างานทั้งหมดจะเสร็จตอนไหนแบบคร่าวๆได้ ซึ่งเราเรียกมันว่า Capacity ของทีม
เช่น ในรูปด้านล่างทีมสามารถทำงานได้ 4-6 user story ต่อ 1 รอบในการส่งงาน
แต่ปัญหาในการทำงานส่วนใหญ่คือทีมไม่รู้ว่าตัวเองสามารถทำงานได้กี่ user story ต่อ 1 รอบงาน เลยทำให้ส่วนใหญ่นั้นงานที่เข้ามาให้ทีมทำนั้นมันจะเยอะกว่าที่ทีมสามารถทำได้ตามรูปนั่นเอง ทำให้แต่ละรอบที่นัดส่งงานเหล่าแมวน้ำทั้งหลายเลยส่งงานได้ไม่ตรงตามที่สัญญาไว้งุย
จากที่ว่ามายังไม่ต้องไปถึง agile หรอก แค่คิดง่ายๆตามหลักความเป็นจริงก็รู้แล้วว่า งานที่ทีมสัญญาว่าจะทำไม่ควรเยอะกว่าความสามารถที่ทีมทำได้นั่นเอง
เช่น จากตัวอย่าง ภายใน 1 รอบงานทีมควรจะเอาไปทำเฉลี่ยอยู่ที่ 5 user story งานนั่นเอง เราเรียกมันว่า Work in progress (WIP) เพราะมันจะได้ไม่มาก และ ไม่น้อยจนเกินไป ไม่มีใครได้นั่งอู้กดมือถือ หรือ ไม่เครียดทำงานยันเย็นทุกวันนั่นเอง
ดังในในการทำงานจริง เราเลยต้องมีที่เก็บรวบรวมไอเดียทั้งหมดของงานไว้ ซึ่งเราเรียกมันว่า Product Backlog (PB) ซึ่งภายในนั้นก็อาจจะมีไอเดียที่ชัดเจนแล้วว่ามันคืออะไร หรือบางตัวอาจจะเป็นแค่ concept เท่านั้นก็ได้
คราวนี้ใน 1 รอบการทำงานทีมก็จะหยิบงานจาก Product Backlog มาทำโดยไม่ให้เกินความสามารถที่ทีมสามารถทำได้ต่อ 1 รอบงานนั่นเอง
โดยทุกๆ 1 รอบงาน เราก็จะมาคุยกันว่างานตัวไหนที่มันมีมูลค่าและเร่งด่วนที่สุดในมุมของ Business เราก็จะเอามาทำก่อน และไอเดียบางเรื่องก็อาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องทำแล้วก็สามารถเอาทิ้งไปก็ได้
ซึ่งการเลือกว่าอะไรมีมูลค่าอะไรเร่งด่วน หรือ อะไรที่มันไม่ได้ใช้แล้ว มันไม่ใช่หน้าที่ของ developer มาเลือกนะ แต่มันจะต้องคุยกันให้เข้าใจทุกฝ่ายต่างหาก ดังนั้นมันจะต้องมีเวลาที่จะให้แต่ละฝ่ายได้มานั่งลงแล้วคุยกันว่าจะดำเนินการยังไงต่อนั่นเอง
จากที่ว่ามาโดยรวม Developer team กับ PO จะต้องเคลียให้เห็นเป็นภาพเดียวกันว่าจริงๆแล้วงานแต่ละตัวใน Product Backlog มันคืออะไร แล้วมันจะสามารถทำเสร็จได้ทัน 1 รอบการทำงานหรือเปล่านั่นเอง และงานที่จะเอาไปทำจะต้องเลือกเอาตัวที่มีความสำคัญในแง่ business ไปทำก่อนเสมอ ซึ่งปัจจัยในการเลือกนั้นจะต้องใช้ Stakeholders มาช่วยด้วยอีกทีนึง
และจากการที่ทีมทำงานเป็นรอบๆ เราก็จะสามารถเก็บสถิติของทีมออกมาได้ เช่น ถ้าเราเอาความสามารถที่ทีมทำ user story มาทำ เมื่อเทียบกับเวลา เราก็จะได้กราฟคร่าวๆเป็นแบบนี้
ซึ่งถ้าเราเอาค่าประมาณการคร่าวๆมาวาดลงก็จะได้ออกมาราวๆนี้
จากกราฟเราก็จะสามารถหาคำตอบให้กับลูกค้าแบบคร่าวๆได้แล้ว เช่น
ถ้าลูกค้าถามว่า features พวกนี้จะเสร็จเมื่อไหร่ ซึ่งคำถามแบบนี้เราเรียกว่า Fixed scope เราก็จะสามารถเอากราฟนี้มาตอบได้ว่า น่าจะเสร็จอย่างเร็วได้วันไหนและอย่างช้าไม่เกินวันไหนนั่นเอง
หรือถ้าลูกค้าถามว่า ช่วงเวลานี้เราจะส่งอะไรให้เขาได้บ้าง ซึ่งคำถามแบบนี้เราเรียกว่า Fixed time ซึ่งเราก็ยังใช้กราฟเดิมมาตอบคำถามได้ว่า อย่างดีที่สุดเราจะส่งอะไรให้เขาได้ และอย่างแย่ที่สุดเราควรจะส่งอะไรให้เขาได้นั่นเอง
และแบบสุดท้ายคือถ้าลูกค้าทั้ง Fixed time และ Fixed scope มาเลย เราก็สามารถอธิบายความเป็นจริงให้ลูกค้าเข้าใจได้ว่าเรามีตัวเลือกให้เขายังไง เพื่อที่จะได้ของที่เขาต้องการนั่นเอง
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้เห็นแบบคร่าวๆว่า หัวใจหลัก 4 ข้อของการทำ agile นั้นจะเน้นไปที่เรื่องของคนและการทำงานร่วมกัน เพื่อปรับให้ทุกฝ่ายได้เข้าใจสถานะการณ์ในปัจจุบัน และทำงานได้ตรงกับความต้องการที่มีมูลค่าและความเร่งรีบได้ถูกต้องนั่นเอง แต่ถ้าเราไม่คุยกัน ต่างฝ่ายต่างทำของตัวเองไป สุดท้ายแล้วเราก็จะได้เล่าให้ลูกหลานฟังต่อว่า อ๋อ Agile เหรอ เคยทำแล้วไม่เวิร์คหรอก
ข้อควรระวัง ในนิทานที่เล่าให้ฟังกับในการทำงานจริงนั้นมันมีหลายเรื่องที่ไม่ตรงกันเยอะอยู่ แต่ผมไม่อยากให้เพื่อนๆต้องไป งง ว่าอะไรคืออะไร เช่น story point, burn down chart บลาๆ แต่อยากให้เห็นภาพคร่าวๆก่อนว่าทำไมแต่ละฝ่ายต้องทำงานร่วมกัน และ ศัพท์ที่เราใช้เรียกกันบ่อยๆมีอะไรบ้างนั่นเอง