👶Docker ขั้นพื้นฐาน

🤔 อยากให้โปรแกรมเราทำงานได้หมดทุกเครื่องทำไงดี ?

ในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกับปลาวาฬใจดีตัวสีน้ำเงินที่มีชื่อว่า Docker กัน ซึ่งเจ้าตัวนี้คือสิ่งที่มาช่วยชีวิตเหล่า Developer โดยทำให้วงจรในการพัฒนาแอพง่ายขึ้น และช่วยลดคำพูดที่คุ้นหูว่า ทำไมมันทำงานไม่ได้เฟร๊ะ ทั้งๆที่ในเครื่องผมยังทำงานได้อยู่เลย (คุ้นปะ)

😢 ปัญหา

สมมุติว่าเราต้องไปเขียนเว็บซักตัวที่เป็นภาษา php เราต้องทำอะไรบ้าง? ลง webserver? ลง mySQL? ตั้งค่าเซิฟเวอร์ต่างๆ บลาๆๆๆ ... ซึ่งถ้าไม่ทำของพวกนี้ก็ run php ไม่ได้ใช่ปะ? และขั้นตอนที่ว่ามาทั้งหมดมันก็อยู่กับเครื่องเราเองเท่านั้น ซึ่งถ้าเราเอาเว็บที่เขียนไปใส่ในเซิฟเวอร์ แต่ลืมตั้งค่าเซิฟเวอร์ให้เหมือนเครื่องเราละ? หรือเวอร์ชั่นของ php ในเครื่องกับเซิฟเวอร์ไม่ตรงกันละ? มันจะทำงานได้ปะ? แล้วถ้าเราทำงานกับเพื่อนๆ เรากับเพื่อนก็ต้องตั้งค่าต่างๆให้เหมือนกันอีกนะ! ถ้ามีคนไปเปลี่ยนก็ต้องบอกให้ทุกคนเปลี่ยนตามกันด้วย!! เห็นมะแค่เกริ่นก็ปวดกบาลกันละ

😄 วิธีแก้ปัญหา

แต่ทั้งหมดนี่ถ้าเราใช้ docker ปัญหาที่ว่ามาจะหมดไป! (บร๊ะ...เหมือนโฆษณาหลอกขายเลย) ดังนั้นเราจะมาเรียนรู้กันว่าเจ้า Docker นี้มันคืออะไรแล้วมันจะมาช่วยลดปัญหาที่โม้มาได้ยังไงกัน

🤔 Docker ทำงานยังไง?

โดยปรกติเวลาที่เราจะเขียนแอพอะไรซักอย่าง (เช่นเว็บ php ด้านบน) เราก็ต้องไป setup environment ต่างๆใช่มะ (เช่นติดตั้ง webserver, mySQL, configuration, บลาๆ) ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดนี้เราก็จะเขียนเป็นคำสั่งไว้ ซึ่งเราเรียกมันว่า Image ซึ่งพอเราเอาเว็บของเราไปขึ้นที่เซิฟเวอร์ เราก็จะใช้เจ้า image ของเราไปสร้าง environment ที่เหมือนกันเครื่องเราบนเซิฟเวอร์ด้วย มันเลยทำให้เซิฟเวอร์ตัวนั้นทำงานเหมือนกันเครื่องเรา เลยทำให้คำพูดที่ว่า "ทำไมมันทำงานไม่ได้ฟระ ทั้งๆที่ในเครื่องผมยังทำงานได้อยู่เลย" หายไป เพราะการตั้งค่าของเครื่องเราตรงกับเซิฟเวอร์ทุกอย่าง และไม่ใช่แค่เซิฟเวอร์เท่านั้น เพื่อนๆคนไหนต้องการทำงานกับเราก็แค่เอา image ตั้วนั้นไปใช้ ก็จะได้ environment แบบเดียวกันด้วยนั่นเอง

โดยสรุป Image คือชุดคำสั่งของ docker ที่เอาไว้สร้าง environment ในแบบที่เราต้องการ รวมถึงการตั้งค่าต่างๆ library ที่เราต้องการ และ source code พื้นฐานที่เราอยากให้มันมี (ทั้งหมดนี่อยู่ในสิ่งที่เรียกว่า Image)

เมื่อเรานำ image มา run แล้วเราจะได้สิ่งที่เรียกว่า Container (จินตนาการง่ายๆว่ามันไปสร้างอะไรซักอย่างที่มี environment เหมือนกับที่ image กำหนดไว้ให้เราไง) ซึ่งเจ้า image 1 ตัว เราจะให้มันไปสร้าง container กี่ตัวก็ได้

ลงรายละเอียดของ Container อีกนิดหน่อย (ถ้าอ่านแล้ว งง ข้ามไปดูหัวข้อถัดไปโลด) การทำงานจริงๆของ Docker จะคล้ายๆกับการไปสร้าง Virtual Machine (VM) แต่จุดที่ต่างกันคือ

  • Virtual Machine มันจะทำงานผ่าน Hypervisor (Hyper-V) และทุกครั้งที่สร้างมันจะไปสร้าง Guest OS ขึ้นมาทั้งตัวให้เราใช้งานติดตั้ง service ต่างๆ ทำให้มันค่อนข้างหนักเครื่อง

  • Docker มันจะสร้าง Container ขึ้นมา ซึ่งภายในจะมี environment ต่างๆตามที่เราต้องการให้เรา ทำให้มันไม่หนักเครื่องเมื่อเทียบกับ VM

🤔 ติดตั้ง Docker ยังไง ?

เราสามารถโหลดตัว Docker ได้จากเว็บหลักของเขานั่นคือลิงค์นี้ https://docs.docker.com/docker-for-windows/install เมื่อติดตั้งเสร็จเขาจะให้เรา รีสตาร์ทเครื่องใหม่ซักครั้ง แล้วหลังจากที่รีสตาร์ทเสร็จตให้เราเปิด command prompt หรือ terminal ขึ้นมา แล้วลองพิมพ์คำสั่งด้านล่างนี้ลงไป เพื่อทดสอบว่า Docker ถูกติดตั้งพร้อมใช้งานแล้วหรือยังได้เลย

docker --version

ถ้าติดตั้งสมบูรณ์เราจะสามารถใช้คำสั่งนี้แล้วเห็นเลขเวอร์ชั่นได้ประมาณด้านล่างนี้ ตัวเลขไม่เหมือนผมไม่เป็นไรนะจุ๊ เพราะมันแล้วแต่ว่าตอนนี้มันเป็นเวอร์ชั่นไหนแล้วนั่นเอง

Docker version 18.09.2, build 6247962

🤔 ไหนลองเขียนเว็บด้วย php ดูดิ๊

โดยปรกติถ้าเราจะใช้ภาษา php เราจะต้องติดตั้ง webserver ก่อน ไม่งั้น code เราจะทำงานไม่ได้เลย แต่ในรอบนี้เราจะมาโชว์ความเมพของ Docker ดูบ้าง โดยการสร้าง environment ที่พร้อมให้ php ทำงานโดยที่เราไม่ต้องติดตั้งตัว webserver ในเครื่องเลย!! (ผมชอบแบบนี้มาก เพราะขี้เกียจมาจัดการ webserver แต่ละตัว มันรกเครื่องและน่ารำคาญมากที่ต้องมาเปิด/ปิดเซิฟเวอร์แต่ละตัวเพื่อให้มันทำงานกับ php แต่ละ version ได้)

ในตัวอย่างนี้ผมจะเขียนเว็บไว้ที่ c:\docker แล้วกันนะ

1.ขั้นตอนนี้เราจะสร้างหน้าแรกของเว็บเรา ดังนั้นจงสร้างไฟล์ index.php ขึ้นมาซะ แล้วเขียนโค้ดด้านในตามด้านล่าง

<?php
    echo "Hello docker world!";
    echo 9 + 5;
?>

2.ต่อมาเราก็มากำหนดว่าเราอยากได้ environment แบบไหน ดังนั้นจงสร้างไฟล์ Dockerfile ขึ้นมาโดยพลัน แล้วเขียนโค้ดด้านในตามด้านล่าง

FROM php:7.0-apache
COPY . /var/www/html
EXPOSE 80

จากโค้ดด้านบน เป็นการให้ Docker สร้าง environment ที่ติดตั้ง php apache version 7 ไว้ให้เรา และตอนที่เริ่มสร้าง Container มันจะ copy ไฟล์ทุกอย่างใน folder นี้ไปไว้ใน var/www/html ที่อยู่ใน container และสุดท้ายเราเปิด port 80 เพื่อให้เราเข้าเว็บได้

3.เปิด command prompt หรือ terminal ขึ้นมาซะ แล้วกำหนดให้มาอยู่ที่ c:\docker

4.สั่ง Docker ให้สร้าง Image โดยตั้งชื่อ image ที่สร้างขึ้นมาว่า php-image ด้วยคำสั่งด้านล่าง

docker build -t php-img .

5.สั่ง Docker ให้สร้าง Container จาก image ที่ชื่อ php-img และเชื่อม port 80 ของ local ให้เข้ากับ port 80 ของ container

docker run -d -p 80:80 php-img

6.เปิด web browser ขึ้นมาแล้วพิมพ์ http://localhost แล้วจะเห็นผลลัพท์ว่า

Hello docker world!14

จะเห็นว่าเราสามารถใช้งานภาษา php ได้โดยที่เครื่องเราไม่จำเป็นต้องลง webserver ใดๆเลย! ซึ่งนี้เป็นแค่น้ำจิ้มของ Docker เองนะ แต่หัวใจของ Docker จริงๆมันคือการช่วยเรื่อง System Development Life Cycle ให้เมพขึ้น แต่การที่เราจะใช้งาน docker ไปถึงจุดนั้นเราจะต้องเข้าใจเรื่องต่างๆของมันอีก ซึ่งถ้าเขียนไว้ในไฟล์นี้ไฟล์เดียว ผมว่ามันจะยาวเป็นหางแมวแน่นอน ดังนั้นผมจะแบ่งมันเป็นส่วนๆเอาละกัน

🧭 เนื้อหาของคอร์สทั้งหมด

บทความนี้กำลังเขียนอยู่ ซึ่งจะค่อยๆเอามาลงในบทความนี้เรื่อยๆครับ

Image and Container
  • การแชร์ Image ที่สร้างไว้

  • คำสั่ง Docker เบื้องต้น

  • คิดอะไรออกเดี๋ยวเอามาใส่ตรงนี้ละกัน

Last updated