👶App Service Plan

🤔 เซิฟเวอร์ที่รับผู้ใช้เป็นล้านๆ หาได้จากไหนนะ ?

ทุกวันนี้แม้แต่เด็กประถมก็สามารถมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองได้ และไม่ว่าจะไปที่ไหนเราก็จะเห็น Hosting ให้ใช้กันอยู่เกลื่อนกลาดเลย มีทั้งฟรีบ้าง เสียเงินบ้าง แต่ถ้าถามว่ามันรองรับผู้ใช้หลักแสนหลักล้านคนได้หรือเปล่า? เวลาเซิฟเวอร์พังขึ้นมามีอะไรช่วยเราได้บ้าง? ดังนั้นในรอบนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ App Service Plan ของ Microsoft Azure กันดูบ้าง ว่าเขามีไม้เด็ดอะไรให้เราเล่นบ้าง และ เมื่อเทียบกับ Hosting ทั่วไป มันจะเป็นยังไงบ้างน๊าา

แนะนำให้อ่าน สำหรับคนที่ไม่รู้เรื่องคลาว์เลย แต่แอบมีใจอยากลองเด่ขาเข้ามาฝั่งนี้บ้าง ผมแนะนำให้ลองดูบทเรียนในลิงค์ด้านล่างนี้ก่อนนะ มันจะได้รู้ว่าควรจะสละเวลาเล่นเกมส์มาศึกษามันจริงๆหรือเป่านั่นเอง 👶 Cloud พื้นฐาน

🤔 App Service Plan คือไย ?

จะมองว่ามันคือ เซิฟเวอร์ฟาร์ม ก็ได้ หรือพูดแบบบ้านๆก็คือ มันคือกลุ่มของเซิฟเวอร์หลายๆตัวที่ทำงานร่วมกัน ยังไงล่ะ โดยบางครั้งแอพของเรามันต้องไปทำงานอยู่บนเซิฟเวอร์ซักตัว เช่น เว็บไซต์, Web API, Back-end บลาๆ ดังนั้นเราก็เลยต้องไปใช้บริการพวก Hosting ต่างๆมาตั้งเป็นเซิฟเวอร์ใช้งานยังไงล่ะ หรือจะซื้อเซิฟเวอร์มาตั้งใช้งานเองในบริษัทไรงี้ ซึ่ง คลาว์เซิฟเวอร์ ก็เป็นอีกหนึ่งในตัวเลือกนี้เช่นกัน และแน่นอนว่าทั้งหมดนี่ ก็สามารถทำบน App Service Plan ได้เลยนะฮ๊าฟ

🤔 ทำไยได้ ?

เย๊อะม๊วกกกก และเรียกได้เลยว่าตั้งแต่ผมใช้คลาว์มาตั้งแต่ปี 2010 ผมก็ไม่เคยใช้ Hosting อื่นๆอีกเลย เพราะเขามีทุกอย่างที่เราต้องการจริงๆ ดังนั้นมาลองไล่ดูกันทีละตัวเรยยยย

🔥 Azure Regions

เวลาที่เราตั้งเซิฟเวอร์บนคลาว์ เราสามารถเลือกได้เลยว่าจะให้เซิฟเวอร์อยู่ที่ไหน เพราะ ยิ่งเซิฟเวอร์ยิ่งอยู่ใกล้ลูกค้าแค่ไหน ลูกค้าก็จะใช้งานเซิฟเวอร์ได้ไหลลื่นเท่านั้น เรื่องนี้เป็นหนึ่งในข้อได้เปรียบของคลาว์ เพราะใน Hosting หลายๆที่ไม่สามารถทำเรื่องนี้ได้ และของ Microsoft เป็นคลาว์แท้ ที่มี Cloud Characteristics ครบทั้ง 5 อย่าง หาใช่คลาว์เทียมที่มีอยู่เกลื่อนตลาดไม่

เกร็ดความรู้ ข้อดีของการที่เราสามารถเลือกเซิฟเวอร์ได้หลายๆโซนคือ ระบบจะสามารถป้องกัน Data Center ล่มได้ เช่น เรามีเปิดเว็บโดยตั้งเซิฟเวอร์ไว้ที่ ญี่ปุ่น และ เมกา และด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่รู้ โรงงานนิวเคลียญี่ปุ่นดันระเบิดขึ้น ทำให้ Data Center ของเขาใช้การไม่ได้เลย และแน่นอนว่าเซิฟเวอร์ก็ดับหมดในโซนญี่ปุ่น แต่ว่าลูกค้าเรามีอยู่ทั่วโลกก็ยังสามารถเข้าใช้งานเว็บเราได้ตามปรกติ เพราะเรามีเซิฟเวอร์อีกที่อยู่ใน เมกา นั่นเอง และด้วยลักษณะแบบนี้เราเลยสามารถทำ Data center disaster recovery plan ได้นั่นเอง ซึ่งพวก Hosting ทั่วไปหาตัวยากมากเลยที่จะทำแบบนี้ได้

🔥 Scaling

โดยทั่วไปเซิฟเวอร์ก็จะทำงานชิวๆไปวันๆ แต่ในบางครั้งก็อาจมีผู้ใช้โถมกระหน่ำเข้ามาใช้งานอย่างหักหน่วง ไม่ว่าจะเป็นเพราะ เทศการต่างๆ ไวรัสระบาด หรือ การโดนโจมตีจากผู้ไม่หวังดี บลาๆ ซึ่งแน่นอนถ้ามีการทำงานหนักเข้ามาเรื่อยๆก็จะทำให้เซิฟเวอร์ทำงานได้ไม่ทัน สุดท้ายก็จะอืดเป็นเต่าและล่มไปในที่สุด ... แต่หาใช่บนคลาว์ไม่ เพราะบนคลาว์เราสามารถ ขยายเครื่อง โดยการ เพิ่ม หรือ ลด ได้ดั่งใจ เพียงคลิกแค่ปลายนิ้ว โดยรูปแบบการขยายเครื่องบนคลาว์นั้นมี 2 รูปแบบนั่นคือ

✨ Scale Up & Scale Down

เป็นการ เพิ่ม/ลด ความแรงของเครื่อง เช่น CPU, RAM, DISK ต่างๆ เพื่อเร่งให้เครื่องทำงานได้เร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิม หรือรองรับการประมวลผลได้มากขึ้นนั่นเอง โดยการขยายในลักษณะนี้เราเรียกว่า ขยายในแนวดิ่ง (Vertical Scaling) นั่นเอง

✨ Scale Out & Scale In

เป็นการ เพิ่ม/ลด จำนวนเครื่อง เช่น จากเดิมมีเซิฟเวอร์ 1 ตัวก็เพิ่มเป็น 5 ตัว ทำให้รับผู้ใช้งานได้มากกว่าเดิม 5 เท่า โดยการขยายในลักษณะนี้เราเรียกว่า ขยายในแนวนอน (Horizontal Scaling) นั่นเอง

✨ Setting

และทั้งหมดนี่ถามว่าเราต้องมานั่งดูเซิฟเวอร์ตลอดเวลาเพื่อคอย เพิ่ม/ลด เซิฟเวอร์หรือเปล่า? คำตอบคือ ไม่ต้องครับ เพราะ Microsoft เขารู้ดีว่า เราก็ไม่อยากมานั่งทำแบบนั้นเหมือนกัน ดังนั้นทั้งหมดนี่เราสามารถตั้งได้เลยว่า จะขยายเพิ่มลดเซิฟเวอร์แบบไหน ซึ่งมีตัวเลือกให้เรา 2 แบบหลักคือ

  • Manual scale - เป็นการกำหนดการขยายเซิฟเวอร์เอง เช่น เรารู้ว่าลูกค้าชอบแห่มาซื้อของช่วงจุดจีน ดังนั้นเราก็ตั้งไว้เลยว่า วันจุดจีนของทุกปีขอขยายเครื่องเป็น 5 เท่า แล้วพอเลยวันจุดจีนค่อยลดเครื่องกลับมาเหลือ 1 ตัวเป็นปรกติ

  • Custom auto scale - เป็นการให้เซิฟเวอร์มันขยายตัวได้เองอัตโนมัติ โดยเราสามารถตั้งเงื่อนไขได้ เช่น ถ้า CPU มันเริ่มขึ้นเกิน 75% ก็ให้ทำการเพิ่มเครื่องอีก 1 ตัว และ ถ้ายังไม่พอก็เป็น 3 ตัว แต่ถ้า CPU กลับมาเป็นปรกติแล้ว ก็ค่อยลดเครื่องกลับมาเป็นปรกติก็ได้

แนะนำให้อ่าน พอดีเขียนบทความเรื่อง Auto Scaling ไว้แล้ว ดังนั้นถ้าสนใจจุดนี้ก็ไปอ่านได้จากลิงค์นี้เบย Auto Scaling

มุมชวนคิด โดยปรกติถ้าเราต้องซื้อหรือเช่าเซิฟเวอร์มาใช้งานในบริษัทซักเครื่อง ถามว่าเบิกเงินซื้อยากไหมกว่าจะอนุมัติจนได้เครื่องมา? แล้วถ้าเอามาใช้ได้ซักพักพบว่าต้องการเครื่องเพิ่มอีก จะเบิกใหม่ได้ไหม? จะได้ทันเอามาใช้หรือเปล่า? และถ้าช่วงเทศการที่มีคนแห่มาใช้เซิฟเวอร์จนทำให้มันล่มบ่อยๆ เราจะขอเบิกเงินไปซื้อเครื่องมาเพิ่ม เพื่อมาใช้แค่ 2-3 วันได้หรือเปล่า? เครื่องที่ซื้อมาจะคืนได้ไหม? และอีกสารพัดปัญหาที่ขี้เกียจเขียน ... แต่ในทางกลับกัน ถ้าเราใช้เซิฟเวอร์บนคลาว์ เราอยากได้เท่าไหร่ก็กดได้เลย และถ้าไม่ใช้ก็ลดเครื่องลง เพียงแค่นี้มันก็ช่วยประหยัดเงินไปได้เยอะแล้วนะ เพราะเซิฟเวอร์ตัวนึงมันไม่จบแค่หลักหมื่น แถมยังไม่นับเวลาในการติดตั้ง ดูแลรักษา บลาๆเลยด้วยนะจ๊ะ 😘

🔥 Operating System

แน่นอนด้วยการที่ App Service Plan มันคือเซิฟเวอร์ที่เราจะใช้ทำงานด้วย ดังนั้นเราก็ย่อมเลือก OS ได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งทาง Microsoft เขาก็มีให้เราเลือก 2 ค่ายแบบที่รู้ๆกันอยู่แล้วนั่นคือ Windows กับ Linux นั่นเองครัชชชช

🔥 Docker Containers

เทรน Docker นี้มาแรง และทาง Microsoft ก็รู้ดี ดังนั้นเซิฟเวอร์นี้ก็รองรับการ Deploy งานผ่าน Docker เช่นกันขอรับ

แนะนำให้อ่าน สำหรับเพื่อนๆที่ยังไม่รู้ว่า Docker คืออะไร หรืออยากจะลองศึกษาใช้งาน ก็สามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมได้จากลิงค์นี้เบยขอรับ 👶 Docker ขั้นพื้นฐาน****

🔥 Development Frameworks

รองรับภาษาอะไรบ้างนะเหรอ ตามลิสต์นี้เลย .NET Framework, .NET Core, Java, Ruby, Node.js, PHP, Phyton อีกทั้งเรายังเลือก version ย่อยได้อีกนะ ตามรูปด้านล่าง เวอร์ชั่นใหม่ๆออกก็กระโดดมาให้ใช้ทันที + ยังคงเวอร์ชันเก่าให้เลือกใช้ได้ยาวๆอีกด้วย

🔥 รวบรัดตัดจบ

คือถ้าจะให้มาไล่ความสามารถของเจ้าตัวนี้ทีละอย่าง บทความนี้ก็คงยาวจนผมหลับไปแน่นอน ดังนั้นผมขอตัดจบดื้อๆแบบนี้ไปก่อน แล้วเดี๋ยวจะกลับมาลงรายละเอียดทีละเรื่องของมันใน บทความย่อยของมันละกันฮั๊ฟ 😋 แต่สิ่งที่เราควรรู้สิ่งสุดท้ายคือ App Service Plan นั้นมีทั้งหมด 3 รูปแบบด้านล่าง ซึ่งแต่ละตัวเดี๋ยวจะลงรายละเอียดให้อีกทีเด้อ

✨ Multi-tenant Service

แบบทั่วๆไปที่เราใช้กันอยู่นั่นแหละ ซึ่งมันจะอยู่ในรูปแบบแชร์ Network Infrastructure กัน และปรกติจะเปิดให้เข้าใช้งานผ่าน Internet ได้เลย

✨ App Service Environment (ASE)

เป็นแบบที่เราอยากจะแยก Network ออกมาต่างหาก (Network Isolation) เพื่อต้องการปรับแต่งที่มากขึ้นกว่าปรกติ

✨ Azure Stack

สำหรับคนที่อยากจะได้ความสามารถต่างๆของ Azure ไปทำงานในเซิฟเวอร์ตัวเอง (On-Premise)

🤔 แพงป่ะ ?

ร่ายมาซะขนาดนี้คิดว่าราคาเท่าไหร่กันเอ่ย? ... ฟรีจ้า ล้อเล่นนะ แต่มันมีตัวฟรีให้เราใช้งานพวกนี้จริงๆนะ ดังนั้นเดี๋ยวมาดูกันหน่อยว่า ถ้าเราสนใจอยากใช้เซิฟเวอร์ของ Microsoft Azure กันแล้ว เราจะต้องใช้ตัวไหน และ มันงบเท่าไหร่กันบ้าง

ทาง Microsoft เขาได้แบ่งเกรดของเซิฟเวอร์ออกตามลักษณะการใช้งานเป็น 5-6 ระดับคือ

ชื่อระดับ

ลักษณะการใช้งาน

1.FREE

ลองของ ลองวิชา ก็แค่อยากลองอ่ะ เขาไม่คิดเงินแม้แต่บาทเดียว

แต่ก็มีข้อจำกัดด้านล่างเหมือนกันลองอ่านดูนะ

2.Shared

ทำหรับใช้ทดลองก่อนเอาไปใช้งานจริง หรือ เอาไว้ใช้สำหรับเทสระบบ

โดยจะใช้เครื่องแบบแชร์ทรัพยากรกัน (ไม่มีใน Linux)

3.Basic

เหมือนระดับ 2 แต่เครื่องไม่ได้แชร์ทรัพยากรกันละ

4.Standard

สำหรับใช้ทำงานจริง มีลูกค้าจริง มีเงินวิ่งในระบบจริง เครื่องไม่แชร์กัน

5.Premium

เหมือนระดับ 3 แต่เครื่องจะแรงกว่า ขยายได้มากกว่า

6.Isolated

เหมือนระดับ 4 แต่เขาจะแยก Network ออกมาให้เราโดยเฉพาะ

รายละเอียดของเซิฟเวอร์ทั้งหมด สามารถอ่านได้จากลิงค์ด้านล่างนี้ครัช และราคาของเซิฟเวอร์แต่ละตัวยังสามารถลดได้อีกนะขึ้นอยู่กับแต่ละ Subscription หรือสิทธิพิเศษของแต่ละคนที่ทาง Microsoft มอบให้ https://azure.microsoft.com/en-us/pricing/details/app-service/windows

🎯 บทสรุป

ถ้าพูดถึงความสามารถของ App Service Plan เทียบกับ Hosting ทั่วไปในท้องตลาดก็คงไม่ต้องพูดถึง เพราะคลาว์แท้ย่อมชนะแทบจะทุกเรื่อง แต่ถ้ามาดูในแง่ของ ราคา แล้วจะพบว่า ราคาท้องตลาดจะถูกกว่าบางเรื่อง ดังนั้นเราเลยต้องมานั่งดูที่ภาพรวมว่า สิ่งที่เราได้มาจากการใช้คลาว์นั่นคือ การรับมือกับผู้ใช้งานปริมาณมากๆ และ ความสามารถในการแก้ปัญหาที่สูงกว่า อีกทั้งเรื่อง Security ระดับโลก แล้วล่ะก็ ผมว่ามันก็เหมาะกับดีนะ เพราะ สุดท้ายค่าบำรุงรักษาในการใช้ Hosting ทั่วไปอาจจะสูงกว่ามาใช้เซิฟเวอร์บนคลาว์ก็เป็นได้ แถมถ้าเป็นงานที่ต้องการคุณภาพสูงๆแล้วล่ะก็ จ่ายเพิ่มแค่เดือนละไม่กี่ร้อยบาท ผมว่ามันก็คุ้มค่าแล้วล่ะ เพราะเวลามันประเมิณค่าไม่ได้นั่นเอง

คอร์สนี้กำลังค่อยๆเขียนอยู่ (แต่คงจะกลับมาเขียนใหม่หลังจากเขียนคอร์ส 👶 Azure App Services เสร็จ) ใครที่ไม่อยากพลาดอัพเดทก็เข้าไปกดติดตามที่ลิงค์ Mr.Saladpuk ได้เลย ส่วนใครที่อยากศึกษา App Service ตัวไหนล่วงหน้าก็ส่งข้อความไปทักเอาได้เช่นกันขอรับ

แนะนำให้อ่าน สำหรับคนใจร้อนอยากลองสร้างเว็บหรือเอาเว็บที่มีอยู่ไปใช้บน App Service Plan แล้วล่ก็สามารถทำตามได้จากลิงค์นี้เลยขอรับ สร้างเว็บตัวแรกกัน ส่วนลิงค์นี้เป็นการสร้าง Virtual Machine เผื่อสนใจศึกษาเพิ่มเติม สร้าง Virtual Machine กัน****

Last updated