Microservices ที่ดีมีลักษณะยังไง
🤔 ออกแบบ Microservices Architecture ยังไงถึงจะถือว่าดี ?
จากบทความที่แล้วเราก็จะพอเห็นไอเดียวแล้วว่า Microservices Arhictectures นั้นมีหัวใจหลักเรื่องอะไรบ้าง และเพื่อนๆบางคนก็อาจจะเคยได้ลองเล่น architecture นี้ไปบ้างแล้ว แต่เคยนึกสงสัยไหมว่า การออกแบบ architecture แบบนี้นั้นมันควรจะต้องเป็นยังไง? ดังนั้นในรอบนี้เราจะไปดูลักษณะเฉพาะตัวของ Microservices Architecture หรือสิ่งที่เรียกว่า Characteristic กัน
แนะนำให้อ่าน บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความ 👶 Microservices พื้นฐาน หากเพื่อนๆสนใจอยากรู้ประวัติความเป็นมาและข้อมูลเบื้องต้นของ Microservices architecture ก็สามารถกดเข้าไปอ่านจากลิงค์สีฟ้าๆได้เลยนะครับ
อ้างอิง บทความนี้ถอดความรู้มาจากมหาเทพ James Lewis และ Martin Fowler โดยสามารถเข้าไปดูบทความหลักได้จากลิงค์นี้เลยครับ Microservices
Characteristics of a Microservice Architecture
ลักษณะเฉพาะตัวของเจ้า microservice นั้นมหาเทพได้กล่าวว่ามันควรจะมีองค์ประกอบด้านล่างนี้ครบถึงจะถือว่าดี แต่ถึงจะมีไม่ครบก็ยังเป็น microservice ได้อยู่นะ แต่มันจะขาดคุณสมบัติบางอย่างไป ดังนั้นลองไปไล่กันดูเลยละกันว่ามันมีอะไรบ้าง
🔥 เซอร์วิสต้องขาดออกจากกัน
หลักในการออกแบบ microservice คือให้มองของต่างๆเป็นส่วนประกอบหรือที่เราเรียกกันว่า Component โดยในแต่ละ component นั้นจะต้องแยกขาดออกจากกันแบบสุดโต่ง
อธิบายให้เห็นภาพ เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นให้เรามองมองว่าแต่ละ component คือชิ้นเลโก้ เพราะเลโก้แต่ละชิ้นมันไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรกันเลย เราไม่ชอบชิ้นไหนก็สามารถถอดเปลี่ยนไปใช้ชิ้นอื่นเมื่อไหร่ก็ได้
สาเหตุที่ต้องออกแบบให้แต่ละ component ขาดออกจากกันก็เพราะ เราจะได้สามารถแยกทำอะไรกับแต่ละ component ได้อิสระโดยไม่ไปกระทบกับ component อื่นๆเลยนั่นเอง เช่น อยากใช้ภาษาอะไรกับ component นั้นก็ใช้ไป วันดีคืนดีอยากเปลี่ยนภาษาก็เปลี่ยนได้เลย อยาก re-deploy ใหม่ก็ทำไป เพราะแต่ละส่วนมันแยกขาดออกจากกัน
ส่วนถ้ามันจะต้องไปทำงานร่วมกับ component อื่นก็ขอแค่เรียกใช้งานผ่าน Web service request แทนนั่นเอง โดยแต่ละ service จะต้องมี Component Interface ที่มั่นคงของมันเอง
ข้อเสีย แต่ละ component จะติดต่อทำงานร่วมกันได้ช้ากว่าปกติเพราะมันคุยกันผ่าน web service request ทุกครั้งนั่นเอง และมันจะเป็นเรื่องใหญ่มากถ้าเราต้องการจะย้ายหน้าที่การรับผิดชอบข้าม component กัน
🔥 ดูแลเฉพาะเรื่องของมัน
ในการทำ microservice architecture นั้น เราควรจะแยกทีมทำงานในรูปแบบของ microservice ด้วย โดย service หนึ่งตัวก็ควรจะมีทีมดูแลทีมเดียว และคนภายในทีมควรจะเป็นแบบ cross-functional team ด้วย หรือพูดง่ายๆคือคนในทีมต้องทำงานหลากหลายเป็น เช่น มีทั้งฝั่ง back-end, front-end, database บลาๆ อยู่ภายในทีมเดียวกันตามรูปด้านล่าง
และที่สำคัญคือแต่ละทีมที่ดูแล service นั้นจะต้องดูแลแค่เพียงกลุ่มงานเดียวเท่านั้น หรือที่เราเรียกกันว่า Bounded context นั่นเอง เพราะถ้าทีมต้องดูแลกลุ่มงานมากกว่า 1 ตัว มันจำทำให้เราสับสนหรือไม่สามารถ focus ตัวงานได้ดี และผลเสียก็จะรวมถึงตัว service ด้วย เพราะมันดูแลงานมากกว่า 2 เรื่องทำให้ถ้ามีการแก้เรื่องใดเรื่องหนึ่งมันก็จะส่งผลกระทบกับอีกเรื่องด้วย ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
🔥 มันคือชิ้นงาน
โดยปกติเวลาที่เราทำงานเสร็จ เราก็จะปิดงานนั้นๆแล้วยุบทีมไปรวมกับทีมอื่น เพื่อช่วยกันทำงานชิ้นถัดไป แต่ในการทำ Microservices นั้นจะไม่ทำแบบนั้น แต่เขาจะใช้หลักการว่า มึงสร้างมึงก็ดูแลด้วย ดังนั้นทีมที่ดูแล component นั้นๆทำงานเสร็จก็ต้องรับผิดชอบดูแลมันต่อ เอางานขึ้น production ดูแล เพิ่มเติมแก้ไขกันไปจนตายกันไปข้าง และไม่ใช่แค่ทำให้มันเสร็จเท่านั้น แต่จะต้องเอาใจใส่เหมือนลูกเพื่อมองว่าเราจะทำให้มันดีขึ้นได้ยังไงอีกด้วย เพราะตัว service มันไม่ใช่ตัว project แต่มันคือชิ้นส่วนตัวนึงของงานทั้งหมดนั่นเอง
🔥 การคุยกันทำให้มันง่าย
การคุยกันระหว่าง service นั้นจะต้องเรียบง่าย โดยการทำงานผ่าน HTTP protocol โดยสนับสนุนให้ใช้ REST นั่นเอง เพราะทุกคนก็สามารถเรียกใช้งานได้โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของภาษา หรือจะให้มันง่ายจนกระทั่งมันอยู่แค่ภายใน router เลยก็ได้
🔥 ดูแลแต่ละเซอร์วิสแยกกัน
ในการจัดการแต่ละ service นั้นควรแยกให้แต่ละทีมรับผิดชอบกันเอง เช่น ทีมจะเลือกใช้ภาษาอะไร ก็ปล่อยให้ทีมจัดการไป เพราะแต่ละ component นั้นแยกขาดออกจากกันอยู่แล้ว และงานแต่ละแบบก็จะมีเครื่องมือหรือภาษาที่เหมาะสมกับหน้างานของมันเองอยู่แล้วนั่นเอง
ข้อควรระวัง การที่เราปล่อยให้ service เป็นอิสระก็ไม่ให้หมายความว่าให้ใช้อะไรก็ได้มั่วซั่วนะ แต่ทีมแต่ละทีมควรจะมีการแชร์กันเรื่อง tools ต่างๆ ข้อดีข้อเสียที่ได้เรียนรู้มา เพื่อให้สามารถพัฒนาความรู้และเทคนิกต่างๆให้ไปด้วยกันได้ ไม่ใช่ปล่อยให้ทีมนึงโดดไปใช้อะไรก็ไม่รู้แล้วก็ส่งงานไม่ได้ และการที่จะทำ features อะไรออกมาในแต่ละ iteration ก็ต้องให้มันสอดคล้องกับทีมอื่นๆด้วยนะ
🔥 ดูแลข้อมูลแยกกัน
service แต่ละตัวถ้าแยกกัน component แล้ว เราก็สามารถจะให้แต่ละ service แยกจัดการกับข้อมูลของมันเองได้อิสระเลย เช่น จะใช้ MongoDB หรือใช้ SQL ก็ได้ทั้งนั้น และรวมถึงการออกแบบด้วย เพราะถ้าย้อนกลับไปดูเรื่อง Bounded Context จากหลักของ Domain Driven Design (DDD) แล้วเราจะพบว่า ของอย่างเดียวกันแต่มันอยู่ต่างเรื่องกัน อาจจะกลายเป็นของคนละโลกเลยก็ได้ ดังนั้นแต่ละ service จะต้องดูละจัดการข้อมูลตามหน้างานของมันเอง
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ คำว่า ผู้ใช้ ในมุมของ developer ทีม กับมุมของ marketing ทีม ก็ดูผิวเผินอาจจะคล้ายกัน แต่พอไปคุยรายละเอียดจริงๆเราจะพบว่าจริงๆทั้งสองทีมนี้มองคำว่าผู้ใช้กันคนละโลกเลย (จริงๆนะ)
🔥 ต้องทำ Automation ได้
งานที่ทำทุกอย่างมันต้องไว ทั้งการเอาขึ้นเซิฟเวอร์ การเทส ต่างๆ ดังนั้นตัว service แต่ละตัวก็ต้องมีโครงสร้างที่รองรับการทำ Build pipeline ได้เช่นพวก Continuous Integration (CI) และ Continuous Delivery (CD) และงานก็ต้องมี automated tests ทั้ง code และ UI ครบสมบูรณ์ เพราะสมัยนี้การให้คนไปคอยนั่งเทสหรือที่เราเรียกว่า Monkey test นั้นจะหายไปแล้วโดยเปลี่ยนบทบาทมาเป็น UX test แทน
สรุปสั้นๆแบบไม่มีศัพท์เทคนิคเลย ตัว microservice นั้นจะต้องรองรับให้มีระบบอื่นมาช่วยเอางานขึ้นเซิฟเวอร์ เอางานเราไปตรวจว่ามีข้อผิดพลาดหรือ bug หรือเปล่า และรวมถึงการทดสอบในอีกหลายๆเรื่องด้วยนั่นเอง
🔥 รับมือกับการล่มได้
ตัว Microservice ต้องถูกออกแบบให้รองรับสถานะการณ์ที่ service อื่นนั้นไม่สามารถใช้งานได้ด้วยและรวมถึงตัวมันเองก็พังด้วยเช่นกัน เพราะเราไม่สามารถการันตีได้ว่า service จะทำงานได้ตลอดเวลานั่นเอง ดังนั้นแต่ละ service จะต้องมีวิธีการรับมือในการรับมือกับสถานะการณ์ที่ติดต่อ service อื่นไม่ได้ เช่นการใช้ค่า default ไปก่อน หรือมีระบบในการตรวจเช็คสถานะของ service ที่เกี่ยวข้องกับมันว่ายังสามารถใช้งานได้อยู่หรือเปล่านั่นเอง ดังนั้นเราจะต้องมีระบบที่คอยดูแต่ละ services ตลอดเวลารวมถึงการทำ log เพื่อหาสิ่งผิดปกติด้วย
🔥 ยืนหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง
ในการทำ Microservice ก็จะมีการปรับเปลี่ยนให้มันดีขึ้นไปเรื่อยๆ ทั้งในการทำงาน การออกแบบทั้งหลาย เพื่อให้มันสามารถรองรับความสามารถใหม่ๆเข้าไปได้เรื่อยๆโดยที่ไม่ทำให้ความเร็วในการพัฒนาลดลง และรวมถึงการโละทิ้ง service ที่เคยใช้ด้วย
🎯 บทสรุป
การนำ Microservices Architecture ไปใช้นั้น มันไม่ใช่แค่การออกแบบเพียงอย่างเดียว แต่มันจะต้องมีวิธีการคิดในรูปแบบของมันอีกด้วย อีกทั้งกระบวนการจัดการก็จะไม่เหมือนแบบทั่วไปที่เคยทำ เพราะเราต้องดูแล services หลายๆตัวที่แตกต่างกัน ภาษาไม่เหมือนกัน เก็บข้อมูลคนละแบบกัน บลาๆ ดังนั้นทีมก็ต้องปรับวิธีการคิดในการใช้ architecture นี้ให้เหมาะสมกับมันด้วย
Last updated