Activity Diagram
🤔 อธิบายของที่ซับซ้อนๆให้เข้าใจง่ายๆด้วยภาพเขาทำกันยังไง?
😢 ปัญหา
บ่อยครั้งที่คุยงานกันแล้วจะสับสนเพราะมันมีขั้นตอนเยอะ และ แต่ละขั้นตอนก็มีรายละเอียดปลีกย่อยอยู่ข้างในด้วย ทำให้เสียเวลาเคลียความเข้าใจกันอยู่นาน และ หลังจากที่คุยกันเสร็จบางทีก็ลืมรายละเอียดบางขั้นตอนไปเสียแล้วทำให้ต้องกลับมาคุยกันใหม่ เป็นปัญหางูกินหาง แล้วเราจะจัดการกับปัญหาพวกนี้ยังไงดี?
😄 วิธีแก้ปัญหา
ผมเชื่อว่าคนเราเห็นภาพแล้วเข้าใจได้ง่ายกว่าเห็นตัวหนังสือ ดังนั้นเราจะใช้แผนภาพที่เรียกว่า Activity Diagram มาช่วยแก้ปัญหาโลกแตกนี้กัน โดยเจ้า activity diagram นั้นจะแปลงเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นให้กลายเป็นรูปที่เข้าใจง่ายๆนั่นเอง
แนะนำให้อ่าน บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของคอร์ส 👶 UML พื้นฐาน หากเพื่อนๆสนใจอยากดูรายละเอียดของ UML แต่ละตัวว่ามันมีอะไรบ้างก็สามารถกดลิงค์ที่ชื่อคอร์สเข้าไปดูได้เลยนะ หรือจะดูหมวดอื่นๆจาก side menu ก็ได้เน่อ
🤔 Activity Diagram ใช้ยังไง?
สมมุติว่าเราต้องเขียนโปรแกรม Login ละกัน ซึ่งกระบวนการ login นั้นมันเกี่ยวข้องกับงานในหลายๆส่วน ดังนั้นเราจะลองให้ ดช.แมวน้ำ 🧔 เป็นคนไล่ลำดับการทำงานของตัวโปรแกรมให้ฟังละกันนะ
😄 ลองเขียน Activity Diagram กัน
โดยปรกติเวลาที่เราใช้ UML เราจะไม่เขียนโค้ดหรือเขียนเอกสารกันนะ แต่เราจะวาดรูปเล่นกันต่างหาก ดังนั้นมาลองไล่ตามสิ่งที่ ดช.แมวน้ำ จะวาดรูปให้ดูทีละขั้นตอน เพื่อที่จะมีโครงสร้างของระบบ Login ดูละกันนะ
🔥 Initial Node
🧔 สิ่งแรกที่จะวาดลงไปก็คือจุดเริ่มต้นที่เป็น วงกลมทึบ เพื่อบอกว่าการทำงานมนจะเริ่มที่จุดนนี้นะ ตามรูปด้านล่างเลย
🔥 Action
🧔 การที่จะทำการ login ได้นั้นจะต้องเริ่มที่หน้า Login ดังนั้นถัดไปเราก็จะวาดรูป วงรี แล้วเขียนว่า เปิดหน้า Login เพื่อกำหนดว่าขั้นตอนนี้มันคืออะไรลงไปตามรูป
🔥 Control Flow
🧔 ในตัวระบบนี้ถ้าผู้ใช้เข้ามาและยังไม่ได้ login ระบบจะพาเข้าไปที่หน้า Login ดังนั้นเราก็จะ ลากเส้น จากจุดเริ่มต้นไปยังกล่องแสดงหน้า login เพื่อบอกว่าโปรแกรมจะพาผู้ใช้ไปในทิศทางไหนนั่นเอง
🔥 Guard Condition
🧔 ในเส้นที่พึ่งวาดลงไปเราสามารถเขียน เงื่อนไขกำกับบนเส้น ได้ว่าเฉพาะผู้ใช้ที่ยังไม่ได้ login เท่านั้นนะถึงจะวิ่งมาเส้นนี้ได้ด้วยนะ
🔥 Decision Node
🧔 ถัดมาผู้ใช้ก็ทำการกรอกข้อมูลชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านของเขาลงไปแล้วก็กดปุ่มเข้าสู่ระบบ สิ่งที่ระบบจะทำต่อก็คือตรวจสอบว่าถูกต้องสามารถเข้าสู่ระบบได้หรือเปล่าตามรูปเลย
🧔 คราวนี้ระบบก็จะต้องตัดสินใจว่าข้อมูลที่ใส่เข้ามาถูกต้องหรือเปล่าโดยการวาดรูป Diamon ลงไป และลากเส้นผลลัพท์ที่เป็นไปได้ออกมาเพื่อบอกว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับผลลัพท์ต่างๆลงไป ซึ่งในกรณีนี้ ถ้า login ได้ระบบก็จะพาไปหน้า Dashboard ซะ แต่ถ้าไม่ได้ระบบก็จะแจ้งเตือนข้อผิดพลาดแล้วยังอยู่ที่หน้า Login เช่นเดิม ตามรูปด้านล่างเลย
🔥 Final Node
🧔 สุดท้ายเมื่ออยู่ในหน้า Dashboard แล้วก็จะถือว่าการทำงานทั้งหมดในกระบวนการ login นั้นจบละ ดังนั้นเราก็จะวาดวงกลมซ้อนกัน แล้วลากเส้นไปใส่มันเพื่อบอกว่ากระบวกการทำงานเรื่องนี้จบลงแล้วนั่นเองตามรูปเลย
จากที่ร่ายยาวมาทั้งหมดก็จะเห็นว่า แทนที่ผมจะเขียนข้อความยาวๆตั้งแต่เริ่มต้นเพื่ออธิบายการทำงานของระบบ Login ทำไมผมไม่เอารูปสุดท้ายนี้มาให้ดูตั้งแต่แรก เพราะมันอ่านแล้วเข้าใจได้เลยโดยที่ไม่ต้องมีคนมาอธิบายอะไรต่อนั่นเอง
🤔 Activity Diagram มีแค่นี้เหรอ ?
ของที่ยกตัวอย่างให้ดูด้านบนทั้งหมดจริงๆมันก็เพียงพอต่อการใช้งาน 80% แล้วล่ะ ส่วนที่เหลือมันเป็นตัวเสริมให้เราสามารถลงรายละเอียดของแผนภาพได้ชัดขึ้นกว่าเดิมเฉยๆ ดังนั้นผมจะยกตัวอย่างการใช้งานตัวอื่นๆไว้ในนี้ต่อละกันไม่งั้นเดี๋ยวคนที่พึ่งเคยใช้จะตกใจว่าทำไมมันวุ่นวายจุงเบย
🔥 Swimlane and Partition
ในบางครั้งเราก็อาจจะต้องแบ่งแยกการทำงานออกเป็นสัดเป็นส่วนให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งตัว activity diagram ก็สามารถแบ่งกลุ่มได้โดยใช้สิ่งที่เรียกว่า Swimlane นี้แหละ
🧔 ในตัวอย่างการ Login ถ้าเราแบ่งกลุ่มเป็นงานของ Front-end, Back-end และตัว Database แล้วเราก็จะได้หน้าตาคร่าวๆออกมาแบบนี้
🧔 หรือเราจะทำการแบ่งกลุ่มแบบแนวนอนเพื่อแยกสถานะว่าผู้ใช้อยู่ในสถานะไหนก็ได้นะ
🔥 Fork Node
ในบางทีการทำงานของเราก็จะทำงานพร้อมๆกัน หรือที่เราเรียกว่า parallel นั่นเอง เราก็สามารถวาดรูปเส้นทึบยาวๆแล้วโยงออกไปยังการทำงานที่มันจะทำพร้อมกันได้เลย
🧔 เช่นถ้าเงินในบัญชีถูกถอนออก ระบบจะต้องทำการบันทึกข้อมูลเก็บไว้ พร้อมต้องรีบส่ง notification ไปแจ้งให้ผู้ใช้ระบรู้ เราก็จะเขียนแผนภาพได้ว่า
🔥 Join Node
🧔 หลังจากที่มันทำงานแบบ Parallel เสร็จแล้วในบางครั้งมันก็จะรอจนกว่าจะเสร็จพร้อมกันแล้วค่อยเริ่มทำงานในขั้นตอนถัดไปก็ได้ โดยเราจะวาดเส้นทึบเหมือนเดิมแล้วลากเส้นจากการทำงานที่ถูกแยกออกไปกลับมารวมกันอีกครั้ง ตามรูปเลย
🔥 Merge Node
หลังจากที่มีการแยกการทำงานออกจากการตัดสินใจแล้วเราก็สามารถนำการทำงานกลับมารวมกันใหม่ก็ได้ โดยการใช้สีญลักษณ์ Diamon เหมือนเดิม แล้วลากเส้นที่เคยแยกออกไปกลับมารวมกันอีกครั้ง
🧔 สมมุติว่าเราต้องเขียนอธิบายว่า ถ้าคะแนนมากกว่า 60 ให้ถือว่าสอบผ่าน แต่ถ้าไม่ใช่ถือว่าสอบตก แล้วสุดท้ายก็ต้องกลับไปรายงานผลการสอบให้พ่อกับแม่ฟัง ตามรูป
🎯 บทสรุป
จากตัวอย่างทั้งหมดเราจะเห็นว่าจริงๆแล้วเราสามารถใช้ Activity Diagram กับการอธิบายการทำงานเรื่องอะไรก็ได้ให้กลายเป็นภาพที่ดูแล้วเข้าใจได้เลย ดังนั้นต่อปเวลาเราอธิบายอะไรก็ลองหัดเปลี่ยนมาใช้แผนภาพแทนการอธิบายโดยใช้ลายลักษณ์อักษรดูนะ
คำเตือน เวลาที่เราเขียน Diagram ต่างๆ ห้ามเอาทุกกระบวนการทำงานมาเขียนยำกันไว้ในภายใน diagram เดียวกัน เพราะไม่อย่างนั้นมันจะกลายเป็นแผนภาพพาทัวร์นรกเลย เพราะเส้นมันจะยุ่งเหยิงไม่รู้จุดเริ่มต้นแต่ละเรื่องคืออะไร
สิ่งที่ควรทำคือ เขียน 1 กระบวนการทำงานต่อ 1 diagram เท่านั้น ดังนั้นถ้างานเราใหญ่เราก็จะมีหลาย diagram ก็จริงแต่มันจะช่วยทำให้เรา focus กับแต่ละกระบวนการทำงานได้ชัดเจนขึ้นนั่นเอง
Last updated