🏗️ Builder Pattern
แนวคิดในการรับมือกับ object ที่มีขั้นตอนการสร้างซับซ้อน
เจ้าตัวนี้ผมขอตั้งชื่อเป็นภาษาไทยว่า ผู้สร้าง และมันอยู่ในกลุ่มของ 🤰 Creational Patterns ซึ่งเจ้าตัวนี้จะมาช่วยแก้ปัญหาเมื่อ เรามีคลาสที่มีขั้นตอนในการสร้างซับซ้อน และ การสร้าง object หลายๆอย่างที่มีขั้นตอนในการสร้างคล้ายๆกัน (อย่าพึ่งเสียเวลาอ่านตัวหนาพวกนั้นเลย) ไปดูโจทย์ของเรากันเลยดีกว่าจะได้เข้าใจได้เร็วขึ้น
แนะนำให้อ่าน บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของมหากาพย์ Design Patterns ที่จะมาเป็น guideline ในการแก้ปัญหาในการออกแบบซอฟต์แวร์โปรเจค หากใครสนใจอยากเข้าใจตั้งแต่ต้นว่ามันคืออะไร และเจ้า patterns ทั้ง 23 ตัวมีอะไรบ้าง ก็สามารถจิ้มตรงนี้เพื่อไปอ่านบทความหลักได้เบยครัช 👦 Design Patterns
หมายเหตุ เนื้อหาของบทความนี้จะเน้นให้เข้าใจหลักการทำงานของ Design Patterns แต่ละตัว โดยใช้เกม Ragnarok เป็นการอธิบาย ซึ่งบางอย่างอาจจะไม่ตรงกับตัวเกมจริงๆนะขอรับ Gravity อย่ามาจับผมนะผมโดนแมวน้ำครอบงำ + รู้เท่าไม่ถึงการ + ผมเป็นคนดี + ผมมีลูกมีเมียมีสามีที่ต้องดูแล 😭
🧐 โจทย์
สมมุติว่าเกมของเรามี ระบบสร้างอาวุธ โดยอาวุธที่สร้างออกมานั้นมี 2 ประเภทคือ
อาวุธธรรมดา - อาวุธประเภทนี้จะ มีช่องว่าง 2 ช่อง ให้ใส่การ์ดเพิ่มความสามารถให้กับอาวุธได้
อาวุธธาตุ- อาวุธประเภทนี้จะ เลือกธาตุได้ เช่น ดิน น้ำ ลม ไฟ
อาวุธธรรมดา - จะต้องไม่มีธาตุ
อาวุธธาตุ- จะต้องไม่มีช่องว่างสำหรับใส่การ์ด
และอาวุธที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นจะต้องถูก สลักชื่อคนสร้าง เอาไว้ในตัวอาวุธด้วย ตามรูปด้านล่างเบย
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ ประเภทอาวุธ ด้วย ซึ่งอาวุธแต่ละประเภทก็จะมีลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น
ดาป - เป็นการโจมตีทางกายภาพ และ ใช้ได้ในระยะประชิดเท่านั้น
คฑาเวทมนต์ - เป็นการโจมตีทางเวทมนต์ และ ใช้ได้ในระยะใกล้
ธนู - เป็นการโจมตีทางกายภาพ และ ใช้ได้ในระยะไกล
และอย่างลืมว่าอาวุธพวกนี้จะต้องสามารถถูกสร้างโดยใส่ธาตุได้นะ ยกเว้นอาวุธพวกคฑาเวทมนต์ จะไม่สามารถใส่ธาตุได้ ตามรูปเลย
แล้วเราจะเขียนโค้ดออกมายังไงดี เพื่อให้มันสามารถตอบโจทย์ความต้องการแบบนี้ ได้อย่างไม่มีปัญหากันนะ ?
🧒 แก้โจทย์ครั้งที่ 1
จากโจทย์ที่ได้มาเราก็ออกแบบ คลาสอาวุธ ของเรากันได้ประมาณนี้
สุดท้ายเราก็ไปเขียนเมธอดที่ใช้ในการสร้างอาวุธออกมา โดยการโยน parameters ต่างๆเพื่อใช้ในการสร้างอาวุธ พร้อมกับเขียนเงื่อนไขต่างๆลงไป เช่น ถ้าเป็นอาวุธธาตุจะต้องไม่มีช่องใส่การ์ด บลาๆ ดังนั้นเราก็จะได้เมธอดออกมาหน้าตาประมาณนี้
หากดูโค้ดตัวอย่างด้านล่างไม่รู้เรื่อง ให้กดที่ tab ข้างๆที่ชื่อว่า ตัวอย่างที่ 2 (แบบง่าย) ละกันนะ
ซึ่งจากโค้ดด้านบนก็ไม่ได้ทำอะไรผิดนะ แก้โจทย์ที่ของเราได้ตามปรกติเลย แต่มันจะเกิดอะไรขึ้นถ้า ประเภทของอาวุธมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ... เราก็ต้องไปไล่แก้โค้ดใหม่ทุกครั้งอะดิ แถมยิ่งแก้ยิ่งพันกันเป็นสปาเก็ตตี้ขึ้นไปเรื่อย 😨
เพราะโค้ดของเรามันมีหลายอย่างที่ไม่ตรงหลักในการออกแบบที่ดี เช่น SRP, OCP ยังไงล่ะ
Single-Responsibility Principle (SRP) การออกแบบที่ละเมิดหลักในการออกแบบนี้จะทำให้ เวลาที่ Requirement เปลี่ยนมาทีนึง มันก็จมีโอกาสสูงมากที่การเปลี่ยนนั้นมันจะไปกระทบเจ้าสิ่งนั้น ทำให้เราต้องแก้ไขมัน ซึ่งผองเพื่อนอื่นๆที่มันดูแลอยู่นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องเลยก็มีผลกระทบด้วยนั่นเอง ส่วนใครที่ลืมหรืออยากทบทวนเรื่อง SRP สามารถเข้าไปอ่านได้จากลิงค์นี้เบย Single-Responsibility Principle
Open & Close Principle (OCP) การออกแบบที่ละเมิดหลักในการออกแบบนี้จะทำให้ทุกครั้งที่มีของใหม่ๆถูกเพิ่มเข้าไปปุ๊ป เราก็ต้องไปแก้โค้ดเดิมเสมอ สำหรับใครที่ลืมหลักในการออกแบบเรื่องนี้ไปแล้วให้กดอ่านได้จากตรงนี้ Open & Close Principle
อาวล่ะเมื่อมาถึงตรงนี้ ผมขอแปลงโค้ดทั้งหมดของเราให้ไปเป็นภาพประมาณนี้ละกันจะได้เข้าใจกันได้ง่ายๆ แล้วเดี๋ยวเราลองไปวิเคราะห์ปัญหา แล้วค่อยๆแก้ปัญหากันทีละจุดกันดีกว่า
🧒 แก้โจทย์ครั้งที่ 2
🔥 วิเคราะห์ปัญหา
จากปัญหาที่ว่ามาเราจะพบว่า ทุกครั้งที่มีอาวุธประเภทใหม่ๆ หรือ เงื่อนไขใหม่ๆ เข้ามามันจะทำให้ เราต้องไปแก้เจ้าเมธอด CreateNewWeapon เสมอ เลยทำให้ในอนาคตมันจะ บวมฉ่ำ อย่างไม่ต้องสงสัยเลย เพราะแค่ดูจากรูปก็เห็นแล้วว่ามันรับ parameters ยั้วเยี๊ยไปหมด ดังนั้นเงื่อนไขภายในก็น่าจะเยอะไม่แพ้กัน เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเกิดขึ้น มันก็จะนำปัญหามาหาเรายังไงล่ะ เราเรียกการบวมแบบนี้ว่า บวมออกข้าง
หรือต่อให้เราเอา Parameters ทั้งหลายไปยัดรวมไว้ภายในคลาสเดียวกันก็ตาม มันก็จะเป็นการย้ายที่บวมไปอยู่ที่เจ้าคลาสใหม่นั่นเอง
และต่อให้เราแยกเมธอดเพื่อใช้ในการสร้างอาวุธมันก็ยังจะบวมออกเหมือนเดิมแต่เปลี่ยนเป็น บวมในแนวดิ่งแทน
ส่วนหนึ่งในสาเหตุการบวมนั้นเกิดจาก มันรับผิดชอบหลายเรื่อง ยังไงล่ะ ดังนั้นเดี๋ยวเรามาแก้ปัญหาเรื่องนี้กันด้วยหลักในการออกแบบด้วย SRP กันเลย
🔥 แก้ไขปัญหา
จากที่อธิบายไปปัญหาหลักของเราคือ ของหลายๆอย่างมันพันกันอยู่ภายในเมธอดเดียว ดังนั้นเราจะต้องค่อยๆ แก้ปมมันทีละเรื่องตามด้านล่างนี้เบย
หน้าที่ในการสร้างอาวุธ
เราไม่ควรจะรวมไว้ในเมธอดเดียว แต่มันควรจะแยกการสร้างอาวุธออกเป็นอาวุธแต่ละประเภทนั่นเอง เช่น ตัวสร้างดาป ตัวสร้างคฑาเวทมนต์ ตัวสร้างธนู ตามรูปด้านล่าง
จัดการความซับซ้อนของการสร้าง
คราวนี้เจ้าพวก parameters ที่จะต้องส่งเข้าไปให้กับเมธอดนั้น มันค่อนข้างวุ่นวายมาก เพราะถ้าในอนาคตมี parameters ต่างๆเพิ่มเข้ามาอีก มันก็จะทำให้มันบวมอย่างเลี่ยงไม่ได้นั่นเอง และ บางที parameter ที่เพิ่มเข้ามาใหม่ มันก็อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับการสร้างของแบบเดิมเลยด้วยซ้ำ แต่เราก็ต้องส่งเข้าไป เพราะไม่อย่างนั้นของเดิมจะทำงานไม่ได้ เช่น มีเงื่อนไขเพิ่มว่าดาปธาตุนั้นถ้าถูกสร้างตอนเที่ยงคืนมันจะเพิ่มพลังโจมตี x 2 ไรงี้ โค้ดเราก็จะประมาณนี้
ซึ่งเจ้าโค้ดด้านบนมันจะบังคับให้เราใส่เวลาลงไปเสมอ แม้ว่าจะเป็นการสร้างดาปธรรมดาก็ตาม เลยทำให้โค้ดตอนเรียกใช้เมธอดนี้มันจะดูตลก ถ้ามีของพวกนี้อยู่เยอะๆนั่นเอง ตามโค้ดด้านล่างนั่นเอง
ซึ่งปัญหาเรื่องนี้มันเกิดจาก เราส่งข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการสร้างอาวุธไปทั้งหมดภายในครั้งเดียว นั่นเอง แต่ถ้าเรามองมันในมุมของการสร้างสิ่งของ เราก็จะพบว่า เราจะกำหนดค่าต่างๆให้ตอนที่มันจำเป็นจริงๆเท่านั้น ไม่ใช่โยนเข้าไปหมดภายในครั้งเดียว ดังนั้นเราจะแยกของต่างๆออกมาให้ง่ายต่อการต่อเติมเป็น เมธอดย่อยๆ เช่น เมธอดกำหนดชื่อ, เมธอดกำหนดระยะการโจมตี บลาๆ ตามรูปด้านล่าง
ซึ่งจากโครงสร้างใหม่ด้านบน เมื่อเราอยากจะกำหนดอะไรเราก็แค่เรียกใช้เมธอดพวกนั้นในการกำหนดค่าต่างๆก็พอ เช่น อยากสร้างดาปธาตุไฟ ก็จะเขียนออกมาราวๆนี้
จากโค้ดด้านบนจะเห็นว่าจะเพิ่มเติมอะไรซักที มันจะเขียนค่อนข้างยาว ดังนั้นเราเลยแก้ไขให้มันสามารถ เชื่อมคำสั่ง (Chain) กันได้นั่นเอง โดยการแก้ return type ให้มันส่ง object ตัวมันเองกลับมา ตามรูปเรย
ดังนั้นโค้ดเวลาที่เราเรียกใช้มันก็จะเป็นแบบนี้
ซึ่งเจ้าคลาสตระกูล Maker จะต้องทำหน้าที่รับผิดชอบในการสร้างอาวุธให้เรานั่นเอง และของบางอย่างเราก็อาจจะไม่ต้องกำหนดค่าให้มันก็ได้ เช่น SwordMaker ก็จะรู้ว่าตัวเองนั้นจะต้องกำหนดพวก รูปแบบการโจมตี ประเภทของอาวุธ และ ระยะการโจมตีเป็นเท่าไหร่นั่นเอง และ มันก็ควรจะมีเมธอดที่สั่งให้มันสร้างอาวุธออกมาให้เราได้ด้วยนั่นเอง ตามนี้เบย
ส่วนโค้ดตอนที่เราต้องการจะสร้างดาปธาตุไฟก็จะออกมาเป็นแบบนี้
ส่วนโค้ดของคลาส SwordMaker ก็จะเป็นแบบนี้นั่นเอง
จากที่ว่าไปทั้งหมดเราก็จะสามารถสร้าง interface กลางที่ใช้ในการสร้างอาวุธต่างๆได้ออกมาราวๆนี้
ซึ่งจากที่ทำมาทั้งหมด เราก็จะได้สิ่งที่เรียกว่า Builder แล้วนั่นเองครัช โดยเจ้าคลาส Builder นั้นมีหน้าที่ในการช่วยให้การสร้าง object ต่างทำได้ง่ายขึ้น โดยที่ Builder แต่ละตัวก็จะต้องรู้เงื่อนไข ข้อจำกัด หรือกฎต่างๆที่ตัวมันเองต้องรับผิดชอบด้วย เลยทำให้เรามี builder ในการสร้างของแตกต่างกันได้หลายๆแบบนั่นเอง (ลองไปดูโค้ดจริงๆที่ด้านล่างสุดได้นะ ว่า builder มันรับผิดชอบเงื่อนไขของมันต่างกันยังไง)
🤔 มันใช้งานยากไปหน่อยไหม ?
แม้ว่าเราจะทำให้โค้ดเราเรียกใช้งานได้ง่ายขึ้นเยอะเมื่อเทียบกับโค้ดแรกเริ่มของเราละ แต่ถ้าทุกครั้งที่เราต้องการสร้างดาป เราก็ต้องเขียนโค้ดแบบด้านล่างนี้เสมอ มันจะทำให้โปรแกรมของเรามีโค้ดซ้ำกันเต็มไปหมดเลยเหรอ ? แบบนี้ก็ขัดกับหลักในการออกแบบเรื่อง Don't Repeat Yourself (DRY) อะดิ ??
ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาของพวกนี้ มันเลยมีอีกตัวนึงที่จะมาช่วยให้เราทำงานกับ Builder ได้ง่ายขึ้น นั่นก็คือสิ่งที่เรียกว่า Director นั่นเอง
โดยเจ้า director จะทำหน้าที่ในการช่วยให้เราสร้างของต่างๆออกมา โดยที่เราไม่จำเป็นต้องรู้อะไรเลย แค่บอกมันว่าเราอยากได้อะไร กับ อยากได้รูปแบบไหนก็พอ เช่น ในกรณีของเราก็จะมีการสร้างอาวุธ 2 แบบนั่นคือ อาวุธธรรมดา กับ อาวุธธาตุ เลยทำให้เรามี director หน้าตาประมาณนี้
ซึ่งเจ้า Director จะรู้ว่าถ้าเราอยากจะได้อาวุธธรรมดา หรือ อาวุธธาตุ มันจะต้องสั่งงาน Builder ให้ทำงานยังไงถึงจะได้ของที่เราต้องการกลับมาเสมอนั่นเอง
ยินดีด้วยในตอนนี้คุณได้ใช้สิ่งที่เรียกว่า Builder Pattern เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เย่ๆ 👏
🤔 Builder คือไย ?
🔥 เป้าหมายในการแก้ปัญหา
ช่วยให้เรา สร้าง object ที่มีขั้นตอนในการสร้างที่ซับซ้อน ให้ถูกสร้างได้ง่ายๆ
ช่วยให้ โค้ดขั้นตอนการสร้างที่เหมือนๆกันรวมอยู่ที่เดียวกัน แต่สามารถสร้าง object ที่แตกต่างกันได้
🔥 วิธีการใช้
ตรงจุดนี้จะขออธิบายออกเป็นทีละขั้นตอนแบบนี้ละกัน คนที่พึ่งหัดออกแบบจะได้เข้าใจได้ง่ายๆนะ
เวลาที่เราอยากสร้างอะไรก็ตาม เจ้าสิ่งนั้นเราจะเรียกมันว่า Product ซึ่งเจ้าตัวนี้แนะนำว่าให้มันเป็น interface ได้ก็จะดีมาก
ส่วนการสร้าง product นั้นมันอาจจะมี options ให้เลือกจุกจิกมากมาย ดังนั้นเราก็จะทำเป็น interface กลางในการสร้างเอาไว้ซะ โดยเราจะเรียกมันว่า Builder และพวก options ต่างๆที่เราสามารถเพิ่มเข้าไปได้เราก็จะแปลงให้มันเป็นเมธอดต่างๆเพื่อให้เราสามารถเพิ่มลดได้นั่นเอง และก็อย่าลืมให้มันมีมีธอดในการสร้าง product จริงๆด้วยนะตามรูปเลย
เจ้าตัวที่จะสร้าง product ที่แท้จริง ก็จะมา implement IBuilder ต่ออีกทีนึง และมันก็จะรู้เงื่อนไข กฎต่างๆในการสร้าง product ที่มันรับผิดชอบอยู่นั่นเอง ซึ่งเราเรียกมันว่า ConcreteBuilder ซึ่งถ้าเรามี product หลายๆแบบ ก็จะมี ConcreteBuilder หลายๆตัวนั่นเอง ตามรูปด้านล่าง
สุดท้ายขั้นตอนในการสร้างที่เหมือนๆกัน เราก็จะให้มันไปอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า Director นั่นเอง ซึ่งเราอาจจะมีการสร้างหลายๆแบบไว้กับ Director ก็ได้
ดังนั้นภาพรวมทั้งหมดของ Builder Pattern เลยออกมาเป็นประมาณนี้
ไหนลองเอาที่เราออกแบบมาเทียบกันดูดิ๊ ... เหมือนกันเปี๊ยบเบย
ข้อแนะนำ ของทุกอย่างใน Design Patterns ทุกตัว เราไม่จำเป็นต้องทำตาม หรือ มีครบเหมือนตามที่เขาบอกไว้ก็ได้ (ถ้าเข้าใจ + มีเหตุผลที่ดีพอ) เพราะสิ่งที่ Pattern แต่ละตัวต้องการจะบอกเราคือ แนวทาง และเหตุผลในการออกแบบเพียงเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่เราต้องทำต่อก็คือนำมันไปประยุกต์ให้เข้ากับปัญหาที่เราเจออยู่ให้เหมาะสมนั่นเอง
🤔 ทำไมต้องใช้ด้วย ?
🥰 ลดการบวม
จากปัญหาด้านบนที่เวลามีของใหม่ๆเพิ่มเข้ามามันจะทำให้คลาสของเราบวมออก ไม่บวมออกข้าง ก็ออกบวมออกในแนวดิ่ง แถม parameters ที่ส่งไปบางทีก็ไม่จำเป็นต้องส่งไปก็ได้สำหรับางการณี ก็น่าจะพอเห็นข้อดีของการใช้ Builder เพียงอย่างเดียวกันแล้วนะ เพราะมันทำให้เราปรับแต่งเพิ่มลดได้ตามใจชอบเลย
🥰 ลดความซ้ำซ้อน
จะเห็นว่าขั้นตอนในการสร้างอาวุธไม่ว่าจะเป็นแบบ อาวุธธรรมดา หรือ อาวุธธาตุ มันก็มีขั้นตอนในการสร้างที่ตายตัวในรูปแบบของมัน ดังนั้นแทนที่เราจะต้องไปเขียนโค้ดเดิมซ้ำๆ เราก็สามารถนำโค้ดพวกนั้นไปไว้ใน director เพื่อลดการเขียนโค้ดซ้ำได้แล้ว แถมโค้ดตัวนั้นยังสามารถผลิต product ที่มีขั้นตอนการสร้างแบบเดียวกันได้อีกไม่จำกัดรูปแบบเลย เพียงแค่ส่ง Builder style ที่ต้องการเข้ามานั่นเอง
หมายเหตุ การใช้ Builder Pattern นั้นจริงๆมีอีกหลายเรื่องเลยที่เป็นข้อดี เช่น
ลด Hardcode ในการสร้าง object
ลดปัญหาเรื่อง Dependencies ต่างๆ
ลดปัญหาเรื่องการเทส
ซึ่งผมเขียนอธิบายไว้ใน Factory Pattern น่าจะละเอียดพออยู่แล้ว ดังนั้นลองไปอ่านกันดูได้จากลิงค์นี้เบยครัช Factory Pattern ทำไมต้องใช้ด้วย ?
📝 ตัวอย่างโค้ดทั้งหมด
ผลลัพท์ Saladpuk (-) Katana sword [2] slots, Atk: 10, MAtk: 0, Range: 1 Saladpuk (Fire) Katana sword [0] slots, Atk: 10, MAtk: 0, Range: 1 Saladpuk (-) Soul staff [2] slots, Atk: 0, MAtk: 10, Range: 5 Saladpuk (-) Soul staff [2] slots, Atk: 0, MAtk: 10, Range: 5 Saladpuk (-) Hunter bow [2] slots, Atk: 10, MAtk: 0, Range: 12 Saladpuk (Wind) Hunter bow [0] slots, Atk: 10, MAtk: 0, Range: 12
🎯 บทสรุป
👍 ข้อดี
การนำ Builder Pattern มาใช้งานนั้นจะช่วย ลดการผูกกันของโค้ดลง ทำให้เราสามารถเปลี่ยนแปลง แก้ไข รองรับสิ่งต่างๆได้มากขึ้น แถมยังช่วยลดโค้ดการสร้าง object ที่มีขั้นตอนในการสร้างเหมือนๆกันได้อีกด้วย
👎 ข้อเสีย
แค่จะสร้าง object ใหม่เฉยๆ ก็เพิ่มโค้ดเข้าไปมหาศาลแล้ว ดังนั้นโครงสร้างจะซับซ้อนขึ้นอีกเยอะเลย ดังนั้นก่อนใช้ให้คิดให้ดีก่อนว่า เรามีปัญหาถึงขนาดที่ต้องใช้มันหรือเปล่า?
🤙 ทางเลือก
เราสามารถนำ Framework พวก Dependency Injection (DI) เข้ามาใช้แทนได้นะจ๊ะ โค้ดกระชับหลับสบายเต็มตื่นด้วย
ข้อควรระวัง อย่านำ Builder Pattern ไปใช้มั่วซั่ว เพราะมันทำให้โค้ดของเราซับซ้อนขึ้นเยอะเลยแทนที่เราจะใช้คำสั่ง new แบบปรกติ ดังนั้นให้ชั่งน้ำหนักให้ดีเสียก่อนว่าปัญหาที่เราเจออยู่นั้น มันวุ่นวาย เทสยาก โค้ดมันผูกกันอยู่เยอะหรือเปล่า ถ้าชั่งน้ำหนักแล้ว + มีเหตุผลที่เพียงพอที่จะใช้ก็จงใช้ให้สบายใจไปเถิด
เกลียด ชอบ ถูกใจ อยากติดตาม อยากติชมแนะนำด่าทอ หรืออะไรก็แล้วแต่ (ห้ามมายืมเงิน) จิ้มลงมาที่เพจนี้ได้เลย Mr.Saladpuk และจะเป็นประคุณอันล้นพ้นถ้ากด Like + Follow + Share ให้ด้วยขอรับ น้ำตาจิไหล 🥺
Last updated