💖Encapsulation

🤔 มันคืออะไร ?

คำว่า Encapsulation มีใช้อยู่ในหลายวงการเลย แต่ในวงการซอฟต์แวร์ใน Wikipedia ถูกเขียนไว้ว่า

Encapsulation refers to the bundling of data with the methods that operate on that data, or the restricting of direct access to some of an object's components.[1] Encapsulation is used to hide the values or state of a structured data object inside a class, preventing unauthorized parties' direct access to them. Publicly accessible methods are generally provided in the class (so-called "getters" and "setters") to access the values, and other client classes call these methods to retrieve and modify the values within the object.

ซึ่งถ้าถอดความหมาย เราก็จะได้หัวใจสำคัญของมันออกมาว่า

Encapsulation เป็นการจัดการข้าวของภายในตัว Model ของเรา เพื่อให้คนอื่นเรียกใช้งานได้ง่ายๆ ในขณะที่เรายังป้องกันข้อมูลที่สำคัญจากภายนอกเอาไว้ได้

🤨 ก็ยัง งง อยู่ดีขอตัวอย่างหน่อย

สมมุติว่าเราต้องเขียน โปรแกรมบัญชีธนาคาร ซึ่งตัวบัญชีสามารถเก็บข้อมูล เจ้าของบัญชี และ เงินในบัญชี ได้ ดังนั้นเราก็น่าจะได้ Model จากหลักการของ Abstraction ออกมาประมาณนี้

public class BankAccount
{
    public string OwnerName;
    public double Balance;
}

โค้ดตัวอย่างด้านบนไม่ได้มีอะไรผิดถูกต้องตาม Abstraction ทุกประการ แต่มันไม่ใช่ Model ที่ดีเพราะมันยังขาดการนำ Encapsulation มาใช้อยู่ ดังนั้นมาดูตัวอย่างของปัญหาเพื่อให้เห็นภาพกันว่ามันไม่ดีตรงไหน

เพื่อนๆลองคิดถึงตอนที่เราจะใช้งานเจ้า BankAccount ดูนะ สมมุติว่าเราจะสร้างบัญชีให้ตัวผมเอง พร้อมฝากเงินเข้าไปในบัญชีนั้น 500 บาท ผมก็จะเขียนโค้ดง่ายๆออกมาได้ประมาณนี้

static void Main(string[] args)
{
    var acc = new BankAccount();
    acc.OwnerName = "Saladpuk";
    acc.Balance += 500;

    Console.WriteLine($"Account: {acc.OwnerName}, has THB {acc.Balance}.");
}

Output Account: Saladpuk, has THB 500.

ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไรชิมิ งั้นลองเพิ่มเงินเข้าไป -1200 ดูดิ๊

static void Main(string[] args)
{
    var acc = new BankAccount();
    acc.OwnerName = "Saladpuk";
    acc.Balance += 500;
    acc.Balance -= 1200;

    Console.WriteLine($"Account: {acc.OwnerName}, has THB {acc.Balance}.");
}

Output Account: Saladpuk, has THB -700.

จะเห็นว่าเงินในบัญชีติดลบ -700 ไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งในบัญชีปรกติเราไม่ควรมีเงินติดลบอยู่ในนั้นใช่ป่ะ

จากที่ว่ามาเดี๋ยวเราจะลองเอาหลักของ Encapsulation มาใช้ดูบ้างว่ามันจะมาช่วยเราได้ยังไง ซึ่งเราไปทำความเข้าใจแนวคิดของมันนิดหนึ่งก่อนว่า

แนวคิด ในการทำ Model นั้นเราจะต้องแยกของที่เป็นข้อมูลที่ Sensitive data ออกมาดูแลเอง และให้เฉพาะคนที่สมควรเท่านั้น ถึงจะสามารถเข้าถึง sensitive data เหล่านั้นได้

ซึ่งในโค้ดตัวอย่างสิ่งที่เป็น sensitive data ก็คือ เงินในบัญชี นั่นเอง ซึ่งเราไม่ควรให้คนอื่นเข้าไปแก้ไขมันได้มั่วๆ ดังนั้นเราต้องทำการซ่อนมันไว้ก่อน เลยทำให้ Model ของเราถูกแก้เป็นแบบนี้

public class BankAccount
{
    public string OwnerName;

    // แก้มันเป็น private member เพราะเราไม่อยากให้คนอื่นเข้ามาแก้มันได้มั่วซั่ว
    private double balance;
}

ส่วนถ้าใครอยากจะเข้าถึงข้อมูลตัวนี้ เราก็จะมีช่องทางให้คนอื่นเข้ามาใช้งานมันได้ง่ายๆ แต่แก้ไขมันไม่ได้นะ ดังนั้น Model เราก็จะออกมาประมาณนี้

public class BankAccount
{
    public string OwnerName;
    private double balance;

    // ใครอยากจะดูยอดเงินก็เข้ามาดูผ่าน property ตัวนี้ ซึ่งมันดูได้อย่างเดียวแก้ไม่ได้
    public double Balance { get => balance; }
}

สุดท้ายใครอยากจะแก้ไข ยอดเงิน ก็ต้องทำผ่านช่องทางที่เรากำหนดไว้เท่านั้น เพื่อป้องกันการแก้ไขโดยใส่ค่าที่ไม่ถูกต้องเข้ามา

public class BankAccount
{
    public string OwnerName;
    private double balance;
    public double Balance { get => balance; }

    // ช่องทางให้คนอื่นเข้ามาเพิ่มจำนวนเงินได้ โดยที่ไม่ทำให้ sensitive data มีปัญหา
    public void Deposit(double amount)
    {
        if (amount > 0)
        {
            balance += amount;
        }
    }
}

ดังนั้นจากที่ว่ามาเราก็ลองกลับไปลองแกล้งมันใหม่ดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น

static void Main(string[] args)
{
    var acc = new BankAccount();
    acc.OwnerName = "Saladpuk";
    acc.Deposit(500);
    acc.Deposit(-1200);

    Console.WriteLine($"Account: {acc.OwnerName}, has THB {acc.Balance}.");
}

Output Account: Saladpuk, has THB 500.

จะเห็นว่าต่อให้เราฝากเงินติดลบลงไป บัญชีเราก็ไม่ทำงานผิดพลาดเหมือนเดิมแล้ว เพราะเรานำหลักของ Encapsulation มาใส่ในการออกแบบ Model แล้วนั่นเอง

😵 Encapsulation คือไรกันแน่ ?

หลักการของ Encapsulation มีง่ายๆคือ มันเอาไว้ป้องกันไม่ให้คนอื่นเข้าถึงสิ่งที่เป็นของสำคัญภายใน Model ของเรา (ซึ่งในตัวอย่างคือยอดเงิน) ดังนั้นเราก็จะใช้พวก Access modifier (public, private, protected) ต่างๆเข้ามาช่วยจัดการสิทธิ์ในการเข้าถึง member ต่างๆใน Model ของเรา และเราก็สามารถสร้างช่องทางให้คนภายนอกเข้ามาทำงานกับ Model ของเราโดยที่เราสามารถควบคุมการทำงานให้เป็นแบบที่เราอยากจะให้เป็นได้นั่นเอง

ซึ่งคำว่า Encapsulation มันหมายถึง การเอาเข้าแคปซูล ตามรูปเลย

โดยความหมายของมันจริงๆก็คือ

  • เราเปิดให้คนอื่นเข้าใช้งานได้เท่าที่เราอยากเปิด - ตามรูปคือโซนแคปซูลโปร่งใสที่มองเห็นตัวแปรและเมธอตที่เขาอยากให้เราเห็น

  • เราจะปิดข้อมูลในส่วนที่เราไม่อยากให้คนอื่นเข้ามายุ่ง - ตามรูปคือโซนแคปซูลสีแดงที่เรามองไม่เห็นเลยว่าข้างในมีอะไรอยู่

ซึ่งหลักในการทำ Encapsulation เลยทำให้เราสรุปสั้นๆตามที่สรุปไว้ด้านบนสุดได้ว่า

Encapsulation เป็นการจัดการข้าวของภายในตัว Model ของเรา เพื่อให้คนอื่นเรียกใช้งานได้ง่ายๆ ในขณะที่เรายังป้องกันข้อมูลที่สำคัญจากภายนอกเอาไว้ได้

ซึ่งหลักในการคิดเรื่อง Encapsulation ก็จะมีหลักในการทำ Information Hiding รวมอยู่ด้วย

🤔 ทำ Encapsulation แล้วดีไง ?

หนึ่งในข้อดีที่เราเห็นได้ชัดเจนคือ เราสามารถควบคุมสิ่งต่างๆจากภายนอกได้ แต่มันก็ยังมีอีกเรื่องนั่นคือ การทำ Encapsulation มันเกิดจากแนวคิดของ Component base ซึ่งคำว่า Component ในวงการนี้เราหมายถึง มันสมบูรณ์แบบด้วยตัวมันเอง นั่นหมายความว่า Model ที่เราสร้างไว้นั้น เราสามารถเอาไปใช้งานได้เลยไม่ต้องทำอะไรกับมันเพิ่มเติมอีกนั่นเอง ยกตัวอย่างง่ายๆคือ ถ้าเราอยากจะใช้ BankAccount แล้วต้องการฝากเงินเข้าไปก็แค่เรียกใช้แบบโค้ดด้านล่างได้เลย

var acc = new BankAccount();
acc.OwnerName = "Saladpuk";
acc.Deposit(500);

จากการใช้งานโค้ดด้านบนจะเห็นว่า เราไม่ต้องสนใจว่าโค้ดภายใน BankAccount มันทำงานจริงๆยังไง แต่เรารู้ว่าแค่เรียกใช้งานแบบนี้มันก็ทำการฝากเงินเข้าบัญชีให้เราได้ก็พอ เพราะว่า BankAccount มันเป็น Component ที่สมบูรณ์แบบด้วยตัวมันเองแล้ว

ดังนั้นเวลาที่เราใช้งาน Component ต่างๆ เลยทำให้เราเขียนโปรแกรมได้ไวขึ้น เพราะแต่ละ Component มันก็สามารถทำงานได้โดยที่เราไม่ต้องไปยุ่งกับการทำงานภายในของมัน เรามีหน้าที่แค่เรียกใช้งานมันอย่างเดียวก็พอ สุดท้ายเราก็เอา Component ต่างๆมาใช้งานร่วมกันทำให้เกิดการทำงานแบบใหม่ได้นั่นเอง

💡 หลักในการคิด

เวลาที่เราจะทำ Encapsulation ให้ดูตัว Model ที่เรากำลังออกแบบก่อน ว่ามันมีข้อมูลที่เป็น sensitive data อะไรบ้าง? แล้วเราจะจัดการกับข้อมูลพวกนั้นยังไง? คนอื่นเข้าถึงได้ไหม? ถ้าเข้าถึงได้เราจะควบคุมคนที่เข้ามาเรียกใช้ยังไง? โดยทั้งหมดนี่มีวัตถุประสงค์เดียวคือ การควบคุม เพื่อให้เกิดเป็น Component ที่พร้อมนำไปใช้งานนั่นเอง

Last updated